วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดขอนแก่น


สถานที่ท่องเที่ยว  จังหวัดขอนแก่น
วัดหนองแวง (พระอารามหลวง) ซึ่งมีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น เรือนยอดทรงเจดีย์ (จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น) จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราช สมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ในระหว่างการเดินขึ้นเราจะได้ยินเสียงอันไพเราะก้องกังวานของกระดิ่งที่แขวน ไว้โดยรอบพระธาตุทั้ง 9 ชั้น ทำให้มีความสุขใจในขณะเดินขึ้นไปในแต่ละชั้น พร้อมยังสามารถเดินชมศิลปะและความงดงามของบานประตู ภาพวาด และหน้าต่างแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ ในชั้นบนสุดของพระธาตุเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวทัศนียภาพความสวยงามของเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของบึงแก่นนครที่มีพื้นที่ กว้างใหญ่ถึง 600 ไร่
ภายในองค์พระธาตุแต่ละชั้น
-   ชั้นที่ 1 เป็นหอประชุม มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ 100 องค์ ประดิษฐานอยู่ บานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น แบบ 3 มิติ และมีจิตรกรรมฝาผนังประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น
-   ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวอีสาน โดยเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในอดีตที่ค่อนข้างหาดูได้ยากในปัจจุบัน พร้อมทั้งทีการวาดลวดลายบนผนังที่เกี่ยวกับข้อห้ามของคนอีสาน ที่เรียกว่า "คะลำ" ซึ่งเป็นแนวประพฤติตนในการอยู่ร่วมกันของชาวอีสาน โดยแต่ละภาพก็หมายถึงข้อห้ามแต่ละข้อ ซึ่งมีทั้งหมด 35 ข้อ บานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์ และภาพแกะสลักนิทานเรื่องสังศิลป์ชัย
-   ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติบานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม เป็นนิทานที่ได้เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวอีสาน และในชั้นที่สามนี้ได้รวบรวมตาลปัตร พัดยศ และเครื่องอัฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดขอนแก่น
-   ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า ภาพวาดที่บานประตู หน้าต่าง เป็นภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศ และตัวพึ่ง-ตัวเสวย
-   ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์ มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธชาดก
-   ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร
-   ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันต์สาวก บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้
-   ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรม เป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น
-   ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธ ตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00 - 18.00 น.
พระธาตุขามแก่น สร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม ตามประวัติโดยย่อกล่าวว่า โมริยกษัตริย์ เจ้าเมืองโมรีย์ซึ่งเป็นเมืองอยู่ใน อาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระ พุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุ ณ พระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้วและบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดีจึงหยุดคณะพัก ชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อไปถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่าจะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ที่บ้าน เมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้งปรากฏว่าแก่นมะขามที่ตายแล้วนั้นกลับ ยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้พร้อมกับนำ พระอังคารธาตุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุและให้นามว่าพระธาตุขาม แก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ บริเวณด้านข้างก็จะมีโบสถ์สมัยโบราณซึ่งมีสถาปัตยกรรมของการแกะสลักไม้ตรง บริเวณหน้าจั่วที่สวยงาม พร้อมชมภาพวาดแปลกตาที่มีทหารยืนเฝ้าด้านหน้าประตูโบสถ์
ศาลหลักเมืองขอนแก่น เป็นสถานที่อันศักดิสิทธิ์ที่ชาวขอนแก่นให้ความเคารพสักการะอย่างมาก ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์ หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนี และหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ริเริ่มสร้างขึ้น โดยนำหลักศิลาจารึกจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีทางพุทธ ศาสนา และตั้งเป็นศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2499  ปัจจุบันได้มีการระดมทุนจากชาวบ้านซ่อมแซมศาลหลักเมืองหลังเก่าให้ดูดีขึ้น เสริมยอดฉัตรทองคำหนัก 8 กิโลกรัม พร้อมการขยายพื้นที่ให้สามารถจัดกิจกรรมสำคัญของเมือง ทำให้ศาลหลักเมืองเป็นทั้งที่เคารพสักการะและเป็นลานกิจกรรมไปในตัว ในยามค่ำคืนจะมีการประดับไฟ หรือบางครั้งเราก็จะได้เห็นการฉายหนังกางแปลงในบริเวณนั้นเพื่อเป็นการแก้บน ต่อท่านเทพารักษ์อีกด้วย
วัดพระพุทธบาทภูพานคำ ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาภูพานคำ อำเภออุบลรัตน์ ก่อนถึงทางเข้าเขื่อนอุบลรัตน์เล็กน้อย เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองในมณฑป และโดดเด่นด้วยพระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ หรือ หลวงพ่อใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณเชิงเขาอย่างสง่างาม มีความสูงถึง 14 เมตร มีบันไดทางขึ้นจากลานวัดไปยังยอดเขาจำนวน 1,049 ขั้น หรือจะขับรถยนต์ขึ้นไปถึงยอดเขาก็ได้  สามารถมองเห็นทัศนียภาพทะเลสาบเขื่อนอุบลรัตน์ได้สวยงาม
เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างกั้นลำน้ำพอง ตรงช่องเขาแนวต่อของเทือกเขาภูพานและภูพานคำ บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์สวยงาม ลมพัดเย็นสบาย มีสวนหย่อมให้นั่งเล่นพักผ่อนหย่อยใจ ภายในบริเวณมีร้านอาหารและบ้านพักให้บริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทำการเขื่อนอุบลรัตน์ โทร.0-4344-6231 หรือ กรุงเทพฯ โทร. 0-2436-3271-2
การเดินทางไปชมเขื่อน ไปได้ตามทาง หลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-อุดรธานี) ห่างจากขอนแก่น 26 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 470-471 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์อีก 24 กิโลเมตร รวมระยะทางห่างจากตัวเมือง 50 กิโลเมตร
บางแสน 2 ตั้งอยู่ที่บ้านหินเพิง ตำบลท่าเรือ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 53 กิโลเมตร บรรยากาศโดยรอบของชายหาดริมทะเลสาบน้ำจืดเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ กิจกรรมกีฬาทางน้ำที่น่าสนใจก็คือ การบริการให้เช่าจักรยานน้ำ, บานาน่าโบ๊ท, ห่วงยาง นอกจากนี้ยังมีบริการร้านอาหารตลอดแนวฝั่ง เน้นเป็นอาหารที่ปรุงจากปลาภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ได้แก่ ปลานิล, ปลาตะเพียน, ปลาช่อน, ฯลฯ  บรรยากาศดี
ถนนคนเดิน จัดทุกค่ำคืนวันเสาร์ ณ บริเวณถนนหน้าศาลากลางจังหวัด มีสินค้าพื้นเมืองและงานแฮนด์เมดให้เลือกซื้อจับจ่ายใช้สอยกัน รวมทั้งร้านขายของกินที่มีให้เลือกกันอย่างมากมายหลายร้าน  พร้อมมีการแสดงแบบเปิดหมวกโชว์ความสามารถของเหล่าเยาวชนรุ่นใหม่ให้ชมด้วย ราคาไม่แพง เปิดให้เดินกันตั้งแต่เวลา 17.00 - 24.00 น.
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
 - ขอนแก่น อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์ 445 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ขับตรงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงจังหวัดขอนแก่น
-  อีก เส้นทางหนึ่ง ใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงสระบุรีแล้วตรงไปตามถนนสระบุรี-ลำนารายณ์ แยกขวาเข้าเส้นทางม่วงค่อม-ด่านขุนทด-ชัยภูมิ-ขอนแก่น หรือ สระบุรี-ลำนารายณ์-อำเภอเทพสถิตย์-ชัยภูมิ-อำเภอมัญจาคีรี-อำเภอพระยืน- ขอนแก่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น